ทีเอ็มบี มอง ดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ลงในการประชุมกนง. 16 ต.ค. รอดูความแน่ชัดปัจจัยเสี่ยงสหรัฐ มีโอกาสหั่นช่วงพ.ย.

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย โดยเห็นว่า ประเด็นร้อนที่กำลังได้รับการจับตามองจากทั่วโลกในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นการที่หน่วยงานราชการบางแห่งของสหรัฐฯ ได้ถูกปิดทำการชั่วคราวเข้าสู่สัปดาห์ที่สามแล้ว แต่ความหวังที่ผู้นำคองเกรสทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงงบประมาณกันได้ดูเหมือน ยังคงริบหรี่ ในขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกำหนดเส้นตาย 17 ตุลาคม นี้ ที่จะหมดสิทธิกู้ยืมเงินเพื่อนำมาชำระหนี้ ประเด็นดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจทำให้เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกฟุบลง ได้

โดยนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ถึงขั้นออกโรงเตือนว่า โลกอาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอีกครั้ง หากสหรัฐฯ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตครั้งนี้ได้ ซึ่งศูนย์ วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ในการประชุมรอบวันที่ 16 ตุลาคม นี้ กนง. จะให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาก เพราะมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และอาจลุกลามเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้

หันมาดูเงินเฟ้อซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของนโยบายการเงินไทยนั้น พบว่ายังคงแผ่วลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.42 เท่านั้น แย้งกับการขึ้นค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าทางด่วน ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และค่าก๊าซหุงต้ม ในเดือนดังกล่าว นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) ยังชะลอตัวสู่ระดับ ร้อยละ 0.61 เกือบจะแตะกรอบล่างเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 0.5 ถึง 3.0

แม้ระดับอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในช่วงเป้าหมาย แต่ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจผลักดันให้ กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อให้เข้าใกล้ค่ากึ่งกลางของกรอบเป้าหมาย (ร้อยละ 1.75) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม  ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มองว่า กนง. อาจจะยังกังวลเรื่องการส่งผ่านราคาของหมวดค่าครองชีพข้างต้น ไปยังสินค้าอื่นๆ ซึ่งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน จึงอาจจะเป็นเหตุผลให้ กนง. น่าจะยังคงรอดูท่าทีไปอีกสักหนึ่งเดือนก่อนจะตัดสินใจใดๆ

กลับมาสู่ภาคเศรษฐกิจจริง เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งจากภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.9 ในเดือนสิงหาคม จากที่หดตัวสามเดือนติดต่อกันในช่วงก่อนหน้า ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าหลัก (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน) กลับมาขยายตัวได้ แต่การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นยังคงหดตัว ทั้งนี้ แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง แต่การส่งออกในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาสสามขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 นับว่าขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ความเปราะบางของการส่งออกของไทยจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงกดดัน ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

หากกล่าวโดยองค์รวมจะเห็นได้ว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ความเสี่ยงการปรับขึ้นของอัตรา ดอกเบี้ยในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย แต่ความเสี่ยงที่จะทำให้การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับต่ำหรือปรับลดลง อีกเล็กน้อยจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.50 มีความเป็นไปได้มากกว่า จากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ยังคงเปราะบาง ซึ่งแรงกดดันดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นหากสหรัฐฯ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาภาระทางการคลังของประเทศให้ผ่านพ้นไปได้

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า อาจยังเร็วเกินไปในมุมมองของ กนง. ที่จะหั่นดอกเบี้ยลงในการประชุมวันพรุ่งนี้ แต่น่าจะเป็นไปในลักษณะของการส่งสัญญาณเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่ เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้มากกว่า ซึ่งเรามองว่าการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนในการ ประชุมเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ปมปัญหางบประมาณในสหรัฐฯ ก็น่าจะมีความแน่นอนมากขึ้น กอปรกับรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสสามของไทยก็จะมีการประกาศก่อน หน้าการประชุมในรอบดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้ทาง กนง. เห็นภาพที่ครบถ้วนยิ่งขึ้นต่อประเด็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ได้อ่อนแอกว่าที่เคยประเมินไว้หรือไม่

 

 

แหล่งข่าวจาก posttoday…