นโยบายประชานิยมของรัฐบาล รถคันแรก และบ้านหลังแรก กลายเป็นปัญหาห่วงโซ่ โดย เฉพาะผู้ประกอบการค่ายรถที่ต้องปรับแผนผลิตใหม่และเร่งระบายสต็อกด้วยกิจกรรมทั้งลด แจก และแถม เพราะหลังปิดโครงการ 31 ธันวาคม 2555 ถึง ณ วันนี้มียอดการทิ้งใบจอง และไม่ผ่านเกณฑ์ถึงกว่า 8 พันราย จากจำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์ 1.25 ล้านคน
ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตแจ้งว่า สถานะโครงการรถคันแรก ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2556 ตั้งแต่ดำเนินโครงการมีผู้ขอใช้สิทธิ์รถคันแรกจำนวน 1,259,056 ราย คิดเป็นเงิน 92,173 ล้านบาท มีผู้ยกเลิกการใช้สิทธิ์ 7,181 ราย และไม่เข้าเงื่อนไข 1,667 ราย จึงมีผู้รับสิทธิ์ 1,250,208 ราย และในจำนวนนี้ รับรถไปแล้ว 1,105,598 ราย ยังเหลือผู้ที่ยังไม่ได้รับรถอีก 144,610 ราย หรือคิดเป็น 11.57% และก็ยังไม่มีการกำหนดวันสิ้นสุดการรับรถแต่อย่างใด
ปัญหา “รถคันแรก” ที่บานปลายนี้ นาย ฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ กล่าวว่า บริษัทต้องปรับลดเป้าการขายรถในปี 2556 ลงเหลือ 1.8 แสนคัน จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนคัน และคาดว่าตลาดรวมรถยนต์ในปี 2556 จะมียอดขายอยู่ที่ 1.25 ล้านคัน จากปีก่อนที่มียอดขายอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขยอดขายที่สูงผิดปกติ เพราะใช้ความต้องการ ซื้อล่วงหน้าไปแล้ว ในส่วนของรถปิกอัพคาดว่าสิ้นปี 2556 นี้ยอดขายรวมจะอยู่ที่ระดับ 5 แสนคัน จากปีก่อนอยู่ที่ 6 แสนคัน
ก่อนหน้านี้ดีลเลอร์ “มิตซูบิชิ” ในภาคอีสานก็ยอมรับว่า โครงการรถคันแรกมีลูกค้าทิ้งใบจองกว่า 80% จึงต้องเร่งสบายสต็อกด้วยการจับมือบริษัทแม่เร่งทำกิจกรรม และอัดแคมเปญกระตุ้นการขาย อาทิ บางราย ให้ลูกค้าวางเงินดาวน์เพียง 9 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นลูกเล่นทางการตลาดที่กระตุ้นให้ลูกค้า เดินเข้าโชว์รูมมากขึ้น
โดยนายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้กล่าวในงานการแสดงวิสัยทัศน์ต่อตลาดรถยนต์ภาคอีสานว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ปีนี้ค่อนข้างลำบาก มาก จากผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งทำให้มีการทิ้งใบจองเยอะมาก ทำ ให้เกิดภาวะความต้องการเทียมอย่างที่ไม่เคย เกิดขึ้นมาก่อน
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า บริษัท มิตซูขอนแก่นยนต์ไพบูลย์ จำกัด ตัวแทนจำหน่าย มิตซูบิชิพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร เฉพาะในจังหวัดขอนแก่นมียอดจองลูกค้ารถคันแรกค้างมาจากปี 2555 ประมาณ 1,000 คัน แต่สามารถส่งมอบรถได้จริงเพียงกว่า 100 คัน หรือมีการทิ้งใบจองมากกว่า 80%
ส่วนโครงการบ้านหลักแรกที่ผ่านมาก็มีกระแสตอบรับเข้ามาน้อยและไม่เป็นไปตาม เป้าหมายตามที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์วาง ไว้ เนื่องจากวงเงินบ้านที่ให้มีเงื่อนไขหลังละไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งสภาพต้นทุนตลาดที่อยู่อาศัยปัจจุบันเป็นไปได้ยาก และสร้างความ สับสนให้กับประชาชนและส่งผลต่อผู้ประกอบ การชะลอโอนกรรมสิทธิ์
ขณะเดียวกันภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบเหงา ทั้งที่ต้นปีมีแนวโน้มที่สดใส แต่เมื่อถึงกลางปีเศรษฐกิจกลับชะงักมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีซึ่งเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอย แต่คาดว่าปีนี้จะไม่ดีเหมือนเคย เนื่องจากประสบทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง โดยที่ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกใดที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน
แหล่งข่าวจากสมาคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีโครงการสนับสนุนประชาชนให้มีบ้านหลักแรก โดยมีการเงื่อนไขดอกเบี้ย 0% 3 ที่ผ่านมานั้น ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่มี รายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย ไม่มีผลต่อการกระตุ้นตลาดมากนัก เพราะมีเงื่อนไขต้องเป็นบ้านในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวก็มีผลต่อการโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าที่ซื้อไปก่อนหน้านี้เช่นกันว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอีก
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของรัฐบาลยังไม่ตรงจุด และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา หากรัฐต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านหลังแรกและเป็นการกระตุ้นตลาดโดยรวมจริงๆ ต้องขยายราคาบ้านถึงในระดับราคา 3 ล้านบาท และหาเงิน สนับสนุนให้เรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำระยะยาว ไม่จำเป็นต้องให้ดอกเบี้ย 0% ก็ได้