นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในการสัมมนา “โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน”ว่า รัฐบาลควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย ทำการค้าขายผ่านช่องทางบริเวณชายแดนมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่เอสเอ็มอีสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และภาครัฐควรเร่งแก้อุปสรรคการค้าชายแดน เช่น พิธีการศุลกากร โครงข่ายถนนโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมูลค่าการค้าชายระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 1.1 ล้านล้านบาท แยกเป็นการค้าชายแดนมากถึง 918,000 ล้านบาท และคาดว่า ภายใน 2- 3 ปีข้างหน้า มูลค่าการค้าชายแดน จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท จากยอดส่งออกรวมของประเทศ 7.2 ล้านล้านบาท
“อุปสรรคการค้าผ่านแดน ยังมีประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล เช่น ด้านพิธีการศุลกากร โครงข่ายถนนโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปของการจำกัดโควต้ารถขนส่งสินค้าเข้าประเทศของ กัมพูชา ขณะที่มาเลเซียกำหนดให้เปลี่ยนรถบรรทุก ส่วนไทยเปิดให้รถขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้จนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงปัญหาเรื่องแหล่งกำหนดของสินค้าซึ่งรัฐบาลจะต้องศึกษาและเจรจากับ รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากลดอุปสรรคเหล่านี้จะทำให้ไทยสามารถค้าขายผ่านชายแดนได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาทแน่นอน เพราะเร็วๆนี้บริเวณชายแดนไทยที่มีทั้งหมด 34 แห่ง จะเปิดเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเปิดอยู่ที่ 18 แห่ง”
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป กล่าวว่า ไทยได้เจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไว้กับหลายประเทศรวม 11 ฉบับ เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีอุปสรรค แต่การค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการค้าระหว่างกันยังเติบโตขึ้น เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการไทย จะต้องมีข้อมูลประเทศที่จะเข้าไปทำการค้าการลงทุน
“ภาพรวมผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบในหลายด้านที่เหนือกว่า เพราะองค์ความรู้ในการผลิตสินค้า และไทยเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมมาถึง 50 ปีแล้ว ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 3 ล้านราย ในจำนวนนี้ 2 ล้านราย ทำธุรกิจค้าปลีก”